สนทะเล
ชื่อพันธุ์ไม้:สนทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์:Casuarina equisetifolia
ชื่อวงศ์:CASUARINACEAE
ชื่ออื่นๆ:กู (ภาคใต้)
ลักษณะ
ต้น:สนทะเล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๐-๒๕ เมตร แต่บางต้นอาจมีความสูงถึง ๕๐ เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๘๐ เซนติเมตร ลำต้นเปลา ตรง กิ่งชลูดขึ้นไปทางปลายยอด เรือนยอดมักเป็นรูปกรวยคว่ำ มีกิ่งทำมุมป้านหรือตั้งฉากกับลำต้นและไม่เป็นระเบียบ กิ่งย่อยมีสีเขียวเรียวเล็กมากคล้ายรูปเข็มต่อกันเป็นปล้อง ๆ ลำต้นมีเปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกเป็นร่องตื้น เปลือกในมีสีน้ำตาลแดง กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แยกจากแก่นเห็นได้ชัด แก่นมีสีน้ำตาลแดง
ใบ:ลักษณะเป็นเกล็ด (scale leaf) เล็กละเอียด สีขาว ๆ เขียว ๆ ออกตามข้อของกิ่งย่อย มีข้อละ ๗ ใบ เรียงกันเป็นช่อวงกลม (whorled) ลักษณะคล้ายหนามแหลม ๆ รูปสามเหลี่ยมและส่วนของกิ่งย่อยสีเขียวเป็นเส้นแหลม ๆ คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ในการปรุงอาหารเลี้ยงลำต้น
ดอก:มีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกกันอยู่คนละดอกกัน ดอกเพศผู้ไม่มีก้านดอก จัดเรียงตัวเป็นรูปช่อยาวเรียว ๆ (silender spikes) ออกตามปลายกิ่ง ดอกเป็นรูปกระบองเรียว ๆ ยาวประมาณ ๑-๓ เซนติเมตร ดอกตัวเมียสีน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปลูกตุ้มเล็ก ๆ ออกตามกิ่งและง่ามกิ่ง ดอกทั้งสองเพศอยู่บนกิ่งใหญ่กิ่งเดียวกัน
ผล:มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปกลม (cone) เปลือกแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๗๕ นิ้ว แต่ละผลประกอบด้วยผลย่อย (แบบ achene) เรียงตัวแทรกอยู่ในผลใหญ่ ผลอ่อนจะมีสีเขียวนวล เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะแตกออกตามรอยประสาน
เมล็ด:ลักษณะเป็นรูปกลมรี ๆ มีปีกหรือครีบบาง ๆ ที่ปลายเมล็ด (winged achenes) เมล็ดมีน้ำหนักเบาขนาดเล็กมาก ลมสามารถพัดพาให้ลอยไปไกล ๆ ได้
ลักษณะเนื้อไม้ สีแดงแกมน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่า ตกแต่งไม่ยาก แข็ง ผึ่งยาก ใช้ในร่มทนทานพอควร ความถ่วงจำเพาะประมาณ ๐.๘๘ (๑๓%) ความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ ๒-๘ ปี เฉลี่ยประมาณ ๔.๙ ปี อาบน้ำยาไม้ได้ค่อนข้างยาก (ชั้นที่ ๓)
ประโยชน์
สนทะเลจัดเป็นไม้โตเร็วอเนกประสงค์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด และให้ประโยชน์ได้หลายอย่างด้วยกันคือ
1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม้สนทะเลเป็นไม้ที่ติดไฟได้ดีและให้ความร้อนสูงมาก จนได้รับขนานนามว่า เป็นไม้ฟืนที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งติดไฟได้สม่ำเสมอทั้งไม้สดและไม้แห้ง และสามารถนำไม้มาใช้เผาเป็นถ่านได้ดี ให้ค่าความร้อน ๗,๔๑๐ แคลอรี่/กรัม (สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๗) นอกจากนี้ขี้เถ้าของไม้สนทะเลยังเก็บความร้อนไว้ได้นานอีกด้วย และใบของสนทะเลในการเดินเครื่องจักรของรถจักรไอน้ำของการรถไฟ และในรัฐ karnataka ของอินเดียได้ถือว่าไม้สนทะเลเป็นชนิดไม้ที่สำคัญสำหรับใช้ในการปลูกเป็นสวนป่าเพื่อใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง
2. ใช้ประโยชน์ในการฟอกหนัง เปลือกของไม้สนทะเลมีน้ำฝาดและสีซึ่งมีเทนนิน อยู่ประมาณ ๖-๑๘% น้ำฝาดจากเปลือกสนทะเลใช้ในการฟอกหนัง โดยการซึมซาบเข้าไปในหนังที่ฟอกอย่างรวดเร็ว ทำให้หนังพองตัวและมีลักษณะอ่อนนุ่ม สีของหนังที่ฟอกด้วยเปลือกสนทะเลจะเป็นสีน้ำตาลปนแดงอ่อน ๆ
3. ใช้ประโยชน์ในการทำกระดาษ เนื้อไม้ของสนทะเลสามารถนำมาใช้ทำกระดาษได้โดยใช้ Neutral sulfite semi-chemical
4. เนื้อไม้ใช้ทำเสาเข็มในการก่อสร้าง เสาโป๊ะ เสาบ้าน เสาไฟฟ้า ทำเป็นโครงนั่งร้าน ด้ามเครื่องมือ ด้ามแจว แอก ล้อเกวียน เป็นต้น
5. ใช้เป็นสมุนไพร สามารถนำเปลือกมาต้มกับน้ำเป็นยาฝาดสมานใช้รักษาโรคท้องเดินเรื้อรังและแก้บิด กิ่งแขนงเอามาชงกับน้ำรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ
6. ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ปลูกตามหาดทรายทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล ปลูกเป็นแนวกันลมได้ดี ใช้ปลูกในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการใช้ที่ดินเสื่อมโทรมให้เป็นประโยชน์ ใช้ปลูกเป็นรั้วบ้าน นิยมนำสนทะเลไปปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากตัดและตกแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้สวยงาม
อ้างอิง: