มะกอกน้ำ
ชื่อพันธุ์ไม้:มะกอกน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์:Elaeocarpus hygrophilus
Kurz
ชื่อวงศ์:ELAEOCARPACEAE
ชื่ออื่นๆ:สมอพิพ่าย สารภีน้ำ สีชัง
ต้น:มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พบได้บริเวณริมน้ำและลำห้วย ปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไป โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบแต่ไม่พร้อมกัน
มีความสูงของต้นประมาณ ๘-๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง มีรูอากาศเป็นแนวยาว
เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตื้น ๆ
ตามความยาวของลำต้น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง
เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมน้ำ ในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง
โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ริมน้ำ ตามชายฝั่งทะเล
ตามป่าโกงกาง ป่าพรุ
ใบ:ใบเป็นใบเดี่ยว
ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ
หรือเป็นรูปแกมรูปใบหอก ปลายใบมนหรือป้าน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย
ใบมีขนาดกว้างประมาณ ๒.๕-๕ เซนติเมตรและยาวประมาณ ๖-๑๒ เซนติเมตร
ท้องใบและหลังใบเรียบ ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง
ก้านใบอ่อนเป็นสีออกแดงเข้ม ส่วนก้านใบแก่เป็นสีแดงอมน้ำตาล ยาวประมาณ ๐.๕-๒
เซนติเมตร
ผล:ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ
ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕-๒
เซนติเมตรและยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ปลายผลเรียวแหลม ผิวผลเรียบเป็นสีเขียว
ผลสามารถใช้รับประทาน โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน ผิวผลเกลี้ยง เนื้อในอ่อนนุ่ม
มีรสเปรี้ยวอมฝาด ส่วนผลสุกจะเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้ม
มีรสเปรี้ยวอมหวานและฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว
ลักษณะของเมล็ดมะกอกน้ำเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี ปลายเรียวแหลม
ผิวเมล็ดขรุขระและแข็งมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนก้านผลยาวประมาณ ๐.๗-๑
เซนติเมตร ให้ผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ดอก:ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ ๒-๑๐
เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ ๒-๗ เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว
ลักษณะห้อยลงคล้ายระฆัง มีขนาดประมาณ ๔-๘ มิลลิเมตร ดอกมีกลีบดอก ๕ กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ
มีขนาดกว้างประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตรและยาวประมาณ ๕-๘ มิลลิเมตร
ปลายกลีบดอกจักเป็นฝอยเล็ก ๆ ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ
ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี ๕ กลีบ เป็นสีเขียว ปลายกลีบแหลม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ
ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ ๑๕-๒๕ ก้าน มีเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน
โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมบ้างว่าออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
ประโยชน์:ผลมีรสฝาดอมเปรี้ยวหวาน นำไปดอง เชื่อม
แช่อิ่ม หรือนำผลดิบมาจิ้มกับน้ำปลาหวานรับประทาน ผลแก่นิยมนำมาดองเป็นผลไม้แปรรูป
ใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลมะกอกน้ำในส่วนที่รับประทานได้ต่อ
๑๐๐ กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน ๘๖ แคลอรี, น้ำ ๗๕.๘ กรัม, ไขมัน ๐.๓ กรัม,
คาร์โบไฮเดรต ๒๒.๓ กรัม, ใยอาหาร ๐.๕ กรัม, โปรตีน ๑ กรัม, วิตามินเอ ๓๗๕
หน่วยสากล, วิตามินบี ๑ ๐.๐๙ มิลลิกรัม, วิตามินบี ๒ ๐.๐๕ มิลลิกรัม, วิตามินบี ๓
๐.๔ มิลลิกรัม, วิตามินซี ๔๙ มิลลิกรัม, แคลเซียม ๑๔ มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส ๓๕
มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก ๐.๙ มิลลิกรัม (ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข)
อ้างอิง:มะกอกน้ำhttps://medthai.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3//03/02/61